Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง

แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงอันน่าเหลือเชื่อของ ‘หมูป่าอะคาเดมี’ ทีมฟุตบอลเยาวชนที่ประสบภัยติดอยู่ด้านในของ ‘ถ้ำหลวง’ หนึ่งในถ้ำที่ซับซ้อนที่สุดของโลก

Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง

อีกหนึ่งผลงานแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงระดับโลกที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่าง 13 ชีวิตทีมหมูป่าแห่งถ้ำหลวง และถ้าว่าตามองค์ประกอบการสร้างนี่อาจเป็นโปรเจกต์ที่น่าคาดหวังมาก ไม่ต่างจากชื่อเรื่องภาษาไทยของซีรีส์ที่ว่า ‘ภารกิจแห่งความหวัง’ แต่อย่างใดเลย

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากเน็ตฟลิกซ์ที่ทุ่มทุนไปสู้ล่าลิขสิทธิ์เรื่องราวถ้ำหลวงผ่านทางรัฐบาลไทย คือได้เรื่องราวฝั่งคนในพื้นที่แบบเต็มที่เพียงเจ้าเดียว ซึ่งแต่เริ่มต้นมันก็เป็นดาบสองคมที่ทีมสร้างรับมาถือไว้ มองในแง่หนึ่งมันจะน่าสนใจและสมบูรณ์มากหากดราม่าฝั่งเด็กและครอบครัวทำงานดี และเรื่องราวของพวกเขาน่าสนใจพอจะแบกหนังให้คนอิน โดยไม่ต้องไปแข่งกับเรื่องภารกิจการช่วยชีวิตมากนัก

โดยตั้งผู้กำกับดังอย่าง จอน เอ็ม. ชู (Jon M. Chu) จาก ‘Crazy Rich Asians’ (2018) มารับบทโปรเดิวเซอร์ และพัฒนาบทซีรีส์ด้วยคู่หูนักเขียนมากฝีมือคือ ไมเคิล รัสเซล กันน์ (Michael Russell Gunn) และ ดานา เลอดูกซ์ มิลเลอร์ (Dana Ledoux Miller) ที่เคยมีผลงานเขียนบทซีรีส์ระดับโลกทั้งใน ‘The Newsroom’ และ ‘Designated Survivor’ มาแล้ว

และเพื่อเติมเต็มความแข็งแกร่งจากมุมมองแบบคนไทยที่มีความสากลด้วย จึงไปดึงผู้กำกับไทยที่ผลงานกำลังอยู่ในช่วงที่ขึ้นหม้อสุดอย่าง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จาก ‘ฉลาดเกมส์โกง’ และ ‘One For The Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ มาผลัดมือกันกำกับ กับผู้กำกับระดับอินเตอร์สายเลือดไทย เควิน ตันเจริญ จาก ‘Agents of S.H.I.E.L.D.’ โดยได้นักแสดงชั้นนำฝั่งไทยอย่าง ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ และนักแสดงชายผู้ล่วงลับที่เคยมีผลงานโดดเด่นในเน็ตฟลิกซ์อย่าง บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ มาร่วมแสดงนำด้วย

Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง
Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง
จุดแข็งจุดอ่อนเหล่านี้ทีมสร้างที่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาทีมนี้ก็รู้ดี และพวกเขาก็สามารถเลือกช่องที่จะแทรกตัวให้มีที่ยืนในบรรดาหนังภารกิจถ้ำหลวงได้ นั่นคือเอาแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงบางส่วนมาผสมกับการอธิบายสถานการณ์ให้รอบด้านหลายแง่มุมแทนที่จะมองไปที่ทีมช่วยเหลือใดทีมหนึ่ง ก็นำเสนอทุกทางเลือกที่มีเลยจะเจาะถ้ำจากด้านบน จะเอาน้ำออกจากถ้ำให้แห้ง จะทำที่พักชั่วคราวในถ้ำรอจนหมดหน้ามรสุม หรือจะฝึกให้พวกเด็กดำน้ำออกมาเหมือนพวกนักดำน้ำ ฯลฯ แล้วเอาแนวทางแบบดราม่าการเมืองที่เน้นการตัดสินใจและล็อบบี้ในวอร์รูมห้องประชุมมาเป็นสถานที่หลักของเรื่อง แทนที่จะไปให้ความสนใจแค่ในถ้ำอย่างเดียว ซึ่งก็คงเหมาะสมกับทีมเขียนบทอย่างกันน์และมิลเลอร์ที่ช่ำชองพิสูจน์ตัวในแนวหนังแบบนี้มาก่อนแล้ว