Triangle of Sadness มันยอร์ชมาก หนังตลกสุดฮาที่เป็นเจ้าของ รางวัลชนะเลิศปาล์มทองคำ ในปีนี้ ที่เล่าถึงเรือสำราญที่เกิดอับปางอย่างกะทันหัน…

Triangle of Sadness มันยอร์ชมาก เล่าเรื่องราวของ คาร์ล กับ ญาญ่า หนุ่มสาวที่กำลังสำรวจโลกแห่งวงการแฟชั่นไปพร้อม ๆ กับขอบเขตความสัมพันธ์ของพวกเขาเอง ทั้งคู่ได้รับเชิญให้ลงเรือลำหรู ที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารระดับไฮคลาสและทรงอิทธิพลมากมาย เมื่อเรือแล่นออกสู่ท้องทะเล ก็ดูเหมือนว่าพายุกำลังค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น คลื่นลมทะเลทำให้คนทั้งลำเรือมีอาการเมาคลื่น และกระทบต่อมื้ออาหารค่ำ ทำให้กัปตันสั่งให้ปิดฉากโปรแกรมท่องเรือครั้งนี้
แต่ปรากฏว่าเมื่อตื่นขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาทั้งคู่จะพบว่าถูกทิ้งเอาไว้บนเกาะร้างที่เต็มไปด้วยมหาเศรษฐีกับบริกรอีกหนึ่งคน ซึ่งดูเหมือนว่าสถานการณ์ต่าง ๆ พลิกไปอีกขั้วทันที เพาะดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงบริกรเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่รู้จักวิธีจับปลาและเอาตัวรอดจากวิกฤตติดเกาะครั้งนี้ พวกเขาจะสามารถเขาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤตครั้งสำคัญแห่งชีวิตครั้งนี้ได้อย่างไร

เอาเป็นว่าแค่เห็นชื่อผู้กำกับ รูเบน ออสต์ลุนด์ คุณน่าจะต้องตั้งแง่กับผลงานของเขาก่อนแล้วแน่ ๆ เพราะเขาจัดได้ว่าเป็นนักสร้างหนังสายเทศกาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ผลงานที่ผ่าน ๆ มาของเขา อย่าง The Square หรือ Force Majeure ต่างก็เป็นที่ประจักษ์ระดับนานาชาติด้วยกันทั้งสิ้น และครั้งนี้เขาก็ยังกลับมาทั้งกำกับและเขียนบทหนังเองเช่นเคย พร้อมกับการใส่ลูกเล่นประเด็นส่อเสียดสังคมที่เป็นสไตล์และเสน่ห์จากปลายปากกาของเขาเอาไว้ในเรื่องนี้ ที่น่าประหลาดใจเหมือนกันที่ Triangle of Sadness มันกลายเป็นหนังที่ย่อยได้ง่ายมาก
ความสตรองของ Triangle of Sadness มีอยู่หลายจุดด้วยกัน ที่โดดเด่นสุด ๆ ก็คงจะเป็นบทหนังและไดอะล็อกของหนังที่คมคายและเพลินอรรถรสดีมาก นี่คือหนังความยาว 2 ชั่วโมงกว่าที่ทำให้คนดูสนุกไปกับเนื้อหาแปล่ง ๆ รสชาติประหลาด ๆ ที่ผู้สร้างเสิร์ฟมาให้ ท่ามกลางบรรยากาศโคลงเคลงไม่ต่างกับสถานการณ์เรือยอร์ชกลางพายุแบบในหนัง มันทั้งสนุกและมันก็ประหลาดไปคราวเดียวกัน เป็นการใส่อารมณ์ที่เต็มที่และจัดให้สุดทางแบบที่ควรจะเป็นเช่นนั้น

อาจจะต้องสารภาพกับคุณผู้อ่านตรง ๆ ว่า ไม่สามารถทันเก็บรายละเอียดทุกเม็ดใน Triangle of Sadness ได้ทั้งหมด เพราะดันมัวไปเพลินใจกับมุกอันแสนทะเยอทะยานของหนัง ที่มีบางจุดที่หลอกหลายให้เคลิ้มไปบ้าง แต่ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้เลยว่า หนังเรื่องนี้มีบทและประเด็นที่แข็งแรง อีกทั้งยังได้ปริบทในการเล่าเรื่องที่แสนจะหรรษากับการส่อเสียดสังคมได้บันเทิง ตั้งแต่ซีนแรกของเรื่องยาวไปจนถึงซีนสุดท้ายของหนัง
Triangle of Sadness แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 3 องก์หลัก ๆ ที่ล้วนแต่สอดแทรกประเด็นเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ และทุกองก์ก็ได้หยิบยกประเด็นของความเท่าเทียมกัน หรือ Equal มาพูดทั้งสิ้น องค์แรกที่เน้นไปที่คู่พระนางวัยหนุ่มสาวที่กำลังอยู่ในช่วงวัยค้นหาตัวเองและหาเงินสร้างชีวิตของพวกเขาเอง เป็นองก์ที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่แสบสันต์พอให้เกิดรอยถลอกได้อยู่ ก่อนมาในองก์ที่ 2 อยู่บนเรือยอร์ชสุดหรรษา ที่องก์นี้จัดเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสุดโต่ง ทุกอย่างสื่อได้ถึงการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน และล้อเลียนพฤติกรรมพวกคนรวย-คนมีเงินได้อย่างทะเยอทะยาน

ขณะที่องก์ที่ 3 ที่เป็นองก์สุดท้ายของหนัง นับว่าเป็นจุดเปลี่ยน (game changer) สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนผันไปหมด แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมฉาบหน้าหนังเอาไว้เช่นเดิม และที่สะใจไปยิ่งกว่านั้นคือพล็อตหักมุมของหนัง ที่น่าตกใจพอ ๆ กับสไตล์หนังของ เอ็ม.ไนท์ ชยามาลาน อะไรทำนองนั้น ไปได้สุดทางและจี้อารมณ์ได้สุดขั้น โดยเฉพาะการเลือกที่จะทิ้งคำปลายเปิดเอาไว้เป็นฉากจบของหนังเช่นนั้น เป็นหนึ่งในซีนที่ทำให้ประเด็นมาก ๆ ทีเดียว
ฝั่งการแสดงของทีมนักแสดงใน Triangle of Sadness คืออยากลุกปรบมือให้เลย หนังไม่ได้แค่โฟกัสที่ 2 แคสติ้งหลัก อย่าง “แฮร์ริส ดิกคินสัน” กับ “ชาร์ลบิ ดีน เครียก” เท่านั้น ถือว่าหนังเรื่องนี้ได้สร้าง equal ให้กับนักแสดงคนอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสมที่เดียว เพราะนักแสดงสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ คนอื่นล้วนมีซีนที่โดดเด่นและน่าจดจำเป็นของตัวเองทั้งนั้น น่าทึ่งที่ทุก ๆ ตัวละครต่างมีมิติและความคิดแบบฉบับตัวเอง ตามจุดยืนและบริบทของสังคมในจุดนั้น ๆ
