

ในปี 2020 กับการประกาศผลรางวัล 56th Baeksang Arts Awards ที่เป็นประกาศความยอดเยี่ยมของผลงานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ของเกาหลีในรอบปี 2019 แต่แม้จะประกาศผลกันที่เกาหลีแต่ก็มีแรงกระเพื่อมมายังแถวนี้ เพราะคนแถวนี้ก็ดูละครเกาหลีทุกวันไม่ต่างจากการทานข้าวคือดูไปบ่นไป เพราะเมื่อครั้งนั้นผู้เขียนเอาใจช่วยงานที่คิดว่าดีที่สุดที่ได้ดูมาในปีนั้นคือ When The Camellia Blooms เพราะได้ทราบมาว่าเป็นหนึ่งในห้าที่เข้าชิงรางวัลและผู้เขียนก็ได้ดูซีรีส์เหล่านั้นไปเป็นส่วนมาก แต่เมื่อรางวัลประกาศออกมากลับมีซีรีส์เรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เป็นกระแสในแถวนี้แต่โผล่มาคว้ารางวัลไปได้อย่างน่าประหลาดใจของคนแถวนี้ (แต่ When The Camellia Bloom ก็คว้ารางวัลสูงสุดรางวัลแดซังไปให้สมใจผู้เขียน) จึงดูเพื่อพิสูจน์ที่ตอนนั้นมีฉายที่แอป viu ที่เดียว
จนเมื่อได้เริ่มดูจึงได้รู้ว่านี่คืองานดีที่ดีจริงและมีความน่าติดตามอย่างหนักกับความยอดเยี่ยมในระดับที่ไม่มีข้อกังขาใดกับรางวัลที่ได้ไป ซีรีส์ที่ผู้เขียนเชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังฮอลลีวู้ดสองสามเรื่องแต่นำมาต่อยอดและดัดแปลงใส่บริบททางสังคมเกาหลีเข้าไป แต่การยำเรื่องราวและต่อยอดทางไอเดียนั้นมอบผลลัพธ์ที่ดีพอด้วยความเป็นดราม่ากีฬาดีๆที่แทบไม่มีเรื่องการแข่งขันในสนามเลย งานชั้นเยี่ยมที่ว่าด้วยเรื่องของคนนอกกรอบยอมหักไม่ยอมงอ กล้าและมีภาวะผู้นำ มีชั้นเชิงการบริหารงานและคน ความเขี้ยวในการเจรจาต่อรอง บ้าบิ่นที่จะปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรที่เหลวแหลก การปลุกจิตวิญญาณที่มอดดับไปให้กลับมาคุโชน ด้วยเป้าประสงค์เพื่อสร้างแมวให้เป็นเสือและเพื่อชัยชนะผ่านการเล่าเรื่องที่เข้มข้นเหลือกำลังลาก Hot Stove League

เรื่องย่อ
ดรีมส์คือทีมในลีกเบสบอลเกาหลีที่ผูกขาดที่โหล่กินบ๊วยทุกปีทั้งที่ในทีมมีนักกีฬาที่มีศักยภาพ เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแห่งความล้มเหลวอีกครั้งทีมก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนั่นคือการเข้ามาของผู้จัดการทั่วไปคนใหม่คือแบคซึงซู (นัมกุงมิน) ผู้จัดการใหม่คนหนุ่มไฟแรงแต่ไม่เคยบริหารทีมเบสบอลมาก่อน ซ้ำยังมีประวัติไม่น่าพิศมัยคือคุมทีมไหนถ้าได้แชมป์ทีมนั้นเป็นอันโดนยุบ ความท้าทายนอกจากการไม่เคยคุมทีมเบสบอลคือผู้จัดการแบคต้องมาบริหารทีมกีฬาที่ขาดแรงบันดาลใจไร้ความเป็นมืออาชีพผู้เล่นเล่นเพื่อเงินไปวันๆ ความเหลวแหลกในวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อยๆกลืนกินจิตวิญญาณของทีมกีฬาระดับอาชีพให้เหือดหาย การไม่ได้รับการยอมรับของทีมงาน การขาดการสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูงที่ไม่มีความรักในกีฬาอย่างแท้จริง
และเมื่อเข้ามาการเริ่มปฏิวัติของผู้จัดการแบคคือการไปสะกิดขาใหญ่ในทีมและกลายเป็นปัญหา แต่นั่นกลับสร้างมุมมองให้อีเซยอง (พัคอึนบิน) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการได้เห็นบางอย่างที่หายไปจากดรีมส์เธอจึงให้ความร่วมมือกับผู้จัดการแบคเต็มที่ แต่ก็ไม่ง่ายเมื่อผู้จัดการแบคคือมนุษย์ที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ยอมหักไม่ยอมงอและมีความมุ่งมั่นที่สวนทางกับควอนคยองมิน (โอจองแช) รักษาการเจ้าของทีมและประธานสโมสรที่มีเป้าหมายบางอย่างต่างกัน และมองการทำงานของผู้จัดการแบคกลายเป็นการสร้างปัญหาแม้ว่าอาจเป็นผลดีต่อทีมก็ตาม เมื่อต้องปฏิวัติทั้งที่ต้องเจอกับปัญหามากมายแต่ผู้จัดการแบคก็สามารถฝ่ามรสุมลูกแล้วลูกเล่าเพื่อสร้างดรีมส์ในแบบที่เขาต้องการนั่นคือแชมป์ ผ่านการเล่าเรื่องที่สุดเข้มดราม่าสุดข้นจนกระทั่งทำใจปิดทีวีไม่ลง

การต่อยอดจากของดีให้มีความเป็นตัวเองแต่ก็ดูเหมือนให้ความเคารพด้วยแรงบันดาลใจ
ซีรีส์เรื่องนี้เมื่อผู้เขียนดูไปก็ปฏิเสธไม่ลงว่ามองเห็นเงาของหนังฮอลลีวู้ดสามเรื่องในงานชิ้นนี้ที่คงเรียกว่าแรงบันดาลใจ ที่ชัดเจนมากคือหนังปี 2011 ของ Brad Pitt อย่าง Moneyball ที่เส้นเรื่องและเหตุการณ์แทบเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องของการบริหารทีมแบบแหกคอกนอกกรอบ การเล่าเรื่องของผู้จัดการทั่วไปของทีมที่ต้องรับผิดชอบการสร้างทีมเพื่อแข่งขันในฤดูกาลต่อไป การใช้ข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ผู้เล่นเพื่อสร้างทีมให้เหมาะสมตรงตามโครงสร้างทีมแล้วเปลี่ยนจากทีมห่วยๆกลายมาเป็นทีมเต็งแชมป์ อีกเรื่องหนึ่งที่มองเห็นแต่บางกว่าคือ Draft Day หนังปี 2014 ของ Kevin Costner ที่ว่าด้วยชั้นเชิงของการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนตัวผู้เล่นและสิทธิ์การดราฟท์นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL ที่เข้มข้น และความเขี้ยวตัวละครของ Kevin Costner ก็กลายมาเป็นหนึ่งในบุคลิกของผู้จัดการแบคที่อาจเหมือนเหลี่ยมเยอะแต่ซื่อตรง
และอีกเรื่องที่เห็นรางๆคือ Trouble With The Curve หนังปี 2012 ของปู่ Clint Eastwood ที่ว่าด้วยเรื่องการทำงานและจิตวิญญาณของแมวมองที่กลายมาเป็นตัวละครแมวมองในซีรีส์ ด้วยการผสานและดัดแปลงต่อยอดขยายความออกมาเป็นบทที่เยี่ยมมากแต่ไม่ได้บิดเบือนเจตนาที่ได้รับมาเป็นแรงบันดาลใจที่ถ้าคนที่ได้ดูหนังสามเรื่องนี้จะเข้าใจและเห็นว่าเป็นการให้ความเคารพ เพราะหนังทั้งสามเรื่องเป็นหนังกีฬาที่แทบไม่มีฉากแข่งขันในสนามแต่ทว่าคนดูกลับดูสนุก พอมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้กลับสนุกยิ่งกว่าด้วยรายละเอียดที่มากขึ้นจากความยาวที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาเล่า การเล่าเรื่องแบบเกาหลีที่ใส่ปัญหาตัวแปรและอุปสรรคมากมายระหว่างทางหรือที่วัยรุ่นข้างบ้านเรียกว่าเกาหลีมักมีดราม่ามาให้ผู้จัดการแบคได้แก้และให้คนดูเอาใจช่วยอย่างไม่จบไม่สิ้น
แต่นั่นเพราะบทรู้ตัวเองว่าจะเล่ายังไงจึงวางพื้นฐานทีมดรีมส์ให้เป็นทีมที่กำลังย่ำแย่ในทุกทาง ทำให้มีเรื่องราวมากมายให้ต้องบริหารจัดการแต่สิ่งที่ประเดประดังเข้ามาก็สมเหตุสมผลมีรายละเอียดไม่ใช่มาลอยๆ คนดูจึงทราบว่าไม่ง่ายที่จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเพราะปัญหาที่รุมเร้าทีมอยู่ไม่ต่างจากมะเร็งที่ลุกลามไปทั่ว และการที่บุคลิกของผู้จัดการแบคเป็นคนไม่ยอมคนเลยสร้างศัตรูไม่เว้นแม้แต่คนที่เคยสนับสนุนเขา และด้วยชั้นเชิงสไตล์เกาหลีที่ไปข้างหน้าก่อนแล้วย้อนมาเฉลยก็ยังได้ผลเพราะเมื่อบางอย่างเผยออกมามันคือการให้รางวัลกับคนดูระหว่างทางที่สมใจในการเอาชนะปัญหาของผู้จัดการแบค ที่ว่าได้ผลคือคนดูมีอารมณ์ร่วม อึดอัด ท้อแท้ไปกับทุกปัจจัยลบที่เข้ามา แต่คนดูก็พร้อมจะล้มลุกคลุกคลานไปกับผู้จัดการแบคและเอาใจช่วยหมดใจจนผ่านทุกปัญหาไปด้วยกัน แม้ท้ายที่สุดบางอย่างอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจหวังแต่ก็สมเหตุสมผลดี

ชัดเจนแน่วแน่แต่เลาเรื่องที่น่าจะซับซ้อนให้ดูง่ายอย่างสนุก
สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้สามารถกุมความรู้สึกคนดูได้แม้ว่าจะเป็นซีรีส์แนวดราม่ากีฬาที่คนดูบางกลุ่มอาจไม่รู้กฎกติกาหรือดูกีฬาเบสบอลไม่เข้าใจคือความแน่วแน่ ความแน่วแน่ที่จะเสนอเรื่องการบริหารจัดการทีมเบสบอล แน่วแน่ที่จะสร้างอารมณ์ร่วมของผู้ชม แน่วแน่ที่จะเสนอเรื่องหลักอย่างเดียวไม่มีเรื่องรองมาให้แตกแถว เรื่องของการปฏิวัติทีมและสร้างทีมของคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ต้องเจอปัญหามากมาย และความฉลาดที่มีคือไม่พยายามเสนอในโทนอื่นๆเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโรแมนติก ดราม่าครอบครัว หรือดราม่าความรักในกีฬาเบสบอล ซึ่งคนเขียนบทเก่งพอที่จะเสนอเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องย่อยๆผ่านปัจจัยต่างๆที่เข้ามาปะทะมากกว่าจะยกเป็นประเด็นรอง ยิ่งอารมณ์โรแมนติกยิ่งไม่ต้องพูดถึงซึ่งมันไม่มีเลย แต่ไปใส่ความมันส์ความเข้มข้นในการเชือดเฉือนหักเหลี่ยมกันอย่างถึงใจผ่านบทสนทนาเข้มๆเมื่อความมุ่งมั่นถูกขัดขวางเส้นทางไม่ราบเรียบ
แต่ทุกครั้งแม้จะสะบักสะบอมคนดูและผู้จัดการแบคก็ผ่านมันมาได้เสมอแม้ใครบางคนอาจจะติว่ามันหาทางออกง่ายไป แต่เมื่อมองบุคลิกและพื้นฐานการกระทำการตัดสินใจและการวางแผนของผู้จัดการแบคที่ผ่านมาจะเชื่อว่าเขาคิดมาก่อนแล้วและมีแผนสำรอง เหมือนกับที่ทีมงานคนหนึ่งถามเขาในตอนหนึ่งซึ่งถ้าคนดูเก็บรายละเอียดจะเชื่อได้ว่าแบคซึงซูคือคนที่มีแผนอยู่ในใจแล้วแต่แค่ไม่ได้เอ่ยมันออกมา ประกอบกับความแน่วแน่ในการเป็นงานดราม่ากีฬาที่ตัวละครหลักต้องเป็นพวก Underdog และทีมดรีมส์ก็เป็นเช่นนั้นทำให้ได้แรงเชียร์ที่สัมพันธ์กับอารมณ์คนดูตามสูตรงานแนวนี้ สุดท้ายความซื่อตรงแน่วแน่ที่จะนำเสนออย่างที่ว่าก็สร้างความน่าติดตามแบบสุดตัวเมื่อแต่ละตอนจะไม่มีช่วงเวลาหน่วงหรือเนือย ระดับความน่าติดตามอยู่ในระดับทำใจยากที่จะหยุดดูและบทสรุปก็ลงตัวเพราะบทไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้ค้างคาแม้แต่นิดเดียว
อีกสิ่งที่น่าชื่นชมคือการเล่าเรื่องที่น่าจะซับซ้อนให้ดูง่าย ก็ใช่ระหว่างทางอาจจะมีศัพท์เทคนิคบ้างแต่นั่นก็มาเพื่อสร้างความหนักแน่นไม่ได้มีผลกับอารมณ์ และอย่างที่บอกเสมอว่าปัญหาใหญ่ของงานดราม่ากีฬามักถูกหมางเมินจากคนดูโดยเฉพาะกีฬาที่เข้าใจยากอย่างเบสบอล ซึ่งสารภาพตรงนี้เลยว่าแม้ผู้เขียนจะชอบดูกีฬาแต่ดูเบสบอลไม่รู้เรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่เอากฏกติกามาใส่ไว้ให้คนดูงง แต่ใส่มาเพื่อความสมเหตุสมผลและสร้างน้ำหนักทำให้ต่อให้คนที่ดูกีฬาประเภทนี้ไม่รู้เรื่องยังสนุกไปกับเหตุการณ์ และสนุกไปกับตัวเรื่องที่เข้มข้นและแน่นอนว่าติดงอมแงม เพราะถ้าตัดเรื่องกีฬาออกไปนี่คือซีรีส์ที่ว่าด้วยดราม่าเกี่ยวกับการบริหารงานบริหารคนและชั้นเชิงทางธุรกิจเรื่องเยี่ยมๆนี่เอง และเป็นอีกเรื่องที่สามารถศึกษาในเชิงธุรกิจและภาวะผู้นำได้อย่างไม่เขินอาย

การแสดงที่ชัดเจนความเขี้ยวแต่นิงของนัมกุงมินที่เข้ากันดีกับความชัดเจนในการแสดงออกของพัคอึนบิน
เพราะนี่คือซีรีส์ที่ไม่มีเรื่องความรักหรือเรื่องในมิติทางใจดราม่าทางสังคมอะไรมาให้คิดมาก แต่เป็นงานที่ว่ากันด้วยเรื่องของการบริหารงานบริหารคนที่มาจากสมองของมนุษย์ที่มีความสามารถ และหัวใจที่จะทานทนกับปัจจัยที่จะทำให้ท้อแท้เหนื่อยหน่ายมากมาย แต่การแสดงของนัมกุงมินคือจัดการได้แม้จะยังเห็นว่าการแสดงของนัมกุงมินก็ยังเป็นนัมกุงมิน เพียงแต่นัมกุงมินคือนักแสดงเก่งในการพาบุคลิกส่วนตัวของตัวเองไปเป็นตัวละครได้อย่างเนียนตา ทำให้นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่สร้างน้ำหนักให้กับทั้งเรื่องคือการแสดงที่คนดูเชื่อ เอาใจช่วยและรักหมดใจของนัมกุงมินในบทผู้จัดการแบคที่เป็นบุคลิกของผู้บริหารยุคใหม่ที่นอกกรอบ เหลี่ยมจัดแต่ซื่อตรง ยอมหักไม่ยอมงอ นิ่งๆเงียบๆ พูดน้อยต่อยหนัก ภาวะผู้นำสูง นัมกุงมินแสดงได้อย่างหมดจดในบทที่เขาได้รับและทำหน้าที่เป็นคนเดินเรื่องและแบกเรื่องไว้ทั้งหมด
ส่วนตัวละครอีเซยองของพัคอึนบินความจริงคือตัวละครตามสูตรของงานดราม่ากีฬา ที่จะต้องมีตัวละครที่เป็นผู้หญิงที่รักและคลั่งไคล้ในกีฬานั้นๆที่รู้ลึกยิ่งกว่าผู้ชายบางคนเสียอีกซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปในงานแนวนี้ และตัวละครนี้เห็นเงาของตัวละคร Mickey ของ Amy Adams ใน Trouble With The Curve ในความเป็น Working Women ที่รักกีฬาเบสบอลซึ่งพัคอึนบินมาในลุคไม่สวยมากแต่น่าเชื่อถือ อีกคนที่เราต้องเอ่ยถึงคือโอจองเซที่รับบทเจ้าของทีมและประธานที่น่ารังเกียจ แต่เขาเป็นคนที่มีปมหนักกว่าคนอื่น ซึ่งเขายังให้การแสดงระดับขโมยซีนได้อย่างที่เคยทำได้ใน When The Camellia Blooms และมันตอกย้ำมาตรฐานการแสดงของเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยบทและการเดินเรื่องที่สนุกและเข้มข้น บวกกับการแสดงระดับยอดเยี่ยมเลยกลายเป็นปัจจัยส่งให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะครองใจคนที่ได้ดูแน่นอน เพียงแต่ก่อนจะดูต้องลบอคติที่มีต่อซีรีส์กีฬาออกก่อนแล้วจะปิดทีวีไม่ลง

ถ้าว่ากันที่รางวัลที่ได้รับคือรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยม 56th Baeksang Arts Awards เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรให้กังขาเพราะมีดีที่ความแน่วแน่ที่จะเสนอ สัตย์ซื่อในสิ่งที่ตัวเองจะสื่อและสื่อได้อย่างถึงแก่นเล่าเรื่องอย่างเข้มข้นน่าติดตามเชือดเฉือนอย่างมันส์ ความสนุกมาจากการปะทะคารมกับแบบเข้มข้นกับความฉลาดเล่าเรื่องเบื้องหลังการสร้างและบริหารทีมเพื่อเป็นแชมป์ ผ่านชั้นเชิงทางการเจรจาต่อรองและเหลี่ยมกลทางธุรกิจให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องของภาวะผู้นำ และการเสนอเรื่องราวนอกสนามนี้คือความดีงามอย่างยิ่งที่ทำให้ซีรีส์ดราม่ากีฬาเรื่องนี้ดูง่ายและเข้าถึงไม่ซับซ้อนจนขนาดต้องมานั่งคิดปะติดปะต่อเรื่องราว และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรากล้าบอกว่านี่คือซีรีส์ในดวงใจอีกเรื่องที่อาจไม่คุ้นเคยกับคอซีรีส์ทั่งไป แต่เมื่อดูจนจบแล้วสามารถบอกได้ว่า “ต้องดู” เท่านั้นจึงจะคู่ควร
ดูไปบ่นไป
NETFLIX และ viu
